ภาษาฝรั่งเศษ
ภาษาฮอลแลนด์
ภาษาฟินแลนด์
ภาษาญี่ปุ่น

วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ประเทศรัสเซีย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี (ขอบพระคุณมากครับ)


รัสเซีย (Russia) (ภาษารัสเซีย: Росси́я, Rossija ออกเสียง [rʌ'sʲi.jə]) หรือ สหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation) (Росси́йская Федера́ция, Rossijskaja Federatsija ออกเสียง [rʌ'sʲi.skə.jə fʲɪ.dʲɪ'ra.ʦɪ.jə]) เป็นประเทศที่มีอาณาบริเวณตั้งแต่ทางตะวันออกของทวีปยุโรป และทางเหนือของทวีปเอเชีย เป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก (เป็นสองเท่าของอันดับสอง คือ ประเทศแคนาดา) เดิมเป็นสมาชิกของสหภาพโซเวียต และเป็นรัฐที่ใหญ่ที่สุด มีอิทธิพลที่สุดของโซเวียต

ประวัติศาสตร์
ยุคแห่งการตั้งอาณาจักร
ชาวสลาฟตะวันออกเป็นชนชาติแรกที่เข้ามาตั้งถื่นฐานในรัสเซีย บริเวณแม่น้ำนีเปอร์และแม่น้ำวอลกาทางตอนใต้ของประเทศ ส่วนทางตอนเหนือชนชาติสแกนดิเนเวียและไวกิ้งที่รู้จักในนามวาแรนเจียน ได้ตั้งถิ่นฐานบริเวณแม่น้ำเนวา และทะเลสาบลาโดกา ทำการติดต่อค้าขายกับชาวสลาฟ แต่แล้วในปี ค.ศ.880 กษัตริย์แห่งวาแรนเจียนก็เข้ามายึดเมืองเคียฟของชาวสลาฟ และได้ตั้งเคียฟเป็นเมืองหลวง โดยผนวกดินแดนเหนือและใต้เข้าด้วยกันแล้วขนานนามว่า เคียฟรุส (Kievan Rus')
ในปี ค.ศ. 978 เจ้าชายวลาดีมีร์ โมโนมัค ขึ้นครองราชย์และทรงนำศาสนาคริสต์นิกายออร์ทอดอกซ์แห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์เข้าสู่รัสเซีย ซึ่งต่อมามีบทบาทและอิทธิพลอย่างสูงต่อศิลปะ สถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมของประเทศ ในช่วงศตวรรษที่ 11 เคียฟเป็นนครหลวง ศูนย์รวมของอำนาจกษัตริย์และเป็นศูนย์กลางของคริสต์จักรออร์ทอดอกซ์ ในขณะที่เมืองอื่นๆ ก็มีประชากรก่อตั้งขึ้นมา จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้กล่าวอ้างถึงมอสโกครั้งแรกในปี ค.ศ. 1147 ว่าเจ้าชายยูริ ดอลโกรูกี มกุฎราชกุมารแห่งนครเคียฟ มีรับสั่งให้สร้างป้อมปราการไม้หรือเครมลินขึ้นที่เนินเขาโบโรวิตสกายา ริมแม่น้ำมอสควา และตั้งชื่อเมืองว่า มอสโก
อาณาจักรมัสโควี
ต่อมาในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 13 กองทัพมองโกล นำโดยบาตูข่าน เข้ารุกรานรัสเซีย และยึดเมืองเคียฟได้สำเร็จ หลังจากนั้นรัสเซียก็ถูกตัดจากโลกภายนอก ถูกควบคุมทางการเมือง การปกครอง และต้องจ่ายภาษีให้กับมองโกล กษัตริย์และพระราชาคณะจึงย้ายศูนย์กลางอำนาจมาทางตอนเหนือ
ในปี 1328 พระเจ้าอีวานที่ 1 ได้รับการสถาปนาเป็นกษัตริย์ พระองค์ทรงมีฉายาว่า lvan kalita หรืออีวานถุงเงิน เนื่องจากทรงเก็บส่วยและเครื่องบรรณาการให้มองโกล และในยุคนี้เองที่กษัตริย์ได้ย้ายที่ประทับมาที่มอสโก ต่อมาในยุคของพระเจ้าอีวานที่ 2 (ค.ศ. 1353-1359) มองโกลเริ่มเสื่อมอำนาจ เจ้าชายดมีตรี โอรสแห่งพระเจ้าอีวานที่ 2 ทรงขับไล่มองโกลได้สำเร็จในการรบที่คูลีโคโว บนฝั่งแม่น้าดอน ในปี 1380 พระองค์ทรงได้รับการสถาปนาเป็น ดมีตรี ดอนสกอย (ดมีตรีแห่งแม่น้ำดอน) ได้รวมเมืองวลาดีมีร์และซุลดัล อันเป็นเมืองสำคัญของอาณาจักรมัสโควี และยังได้บูรณะเครมลินเป็นกำแพงหินขาวแทนไม้โอ๊ก มอสโกจึงมีอีกชื่อเรียกว่า เมืองกำแพงหินขาวในยุคนั้น แต่เพียงไม่นานพวกตาตาร์ก็กลับมาทำลายเครมลินจนพินาศ รัสเซียต้องเป็นเมืองขึ้นของตาตาร์อีกครั้งหนึ่งในปี 1382
จนเข้าสู่สมัยของพระเจ้าอีวานที่ 3 หรือพระเจ้าอีวานมหาราช (ค.ศ. 1462-1505) พระองค์ทรงอภิเษกกับหลานสาวของจักรพรรดิองค์ก่อนแห่งไบแซนไทน์ในปี 1472 และรับอินทรีสองเศียรเป็นสัญลักษณ์ของรัสเซีย ในยุคของพระองค์ได้รวบรวมดินแดนให้กลับเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง ในปี ค.ศ. 1480 ทรงขับไล่กองกำลังตาตาร์ออกจากรัสเซียจนหมดสิ้น ปิดฉากสองศตวรรษภายใต้การปกครองของมองโกล ทรงบูรณะเคนมลินให้เป็นหอคอยสูงและโบสถ์งดงามไว้ภายในเครมลิน นับเป็นยุคแห่งความรุ่งเรืองของรัสเซีย
ปี 1574 พระเจ้าอีวานที่ 4 (1533-1584) หลานของพระเจ้าอีวานมหาราช ได้รับสถาปนาเป็นซาร์พระองค์แรก (ซาร์ มาจากคำว่า ซีซาร์ ผู้ครองอำนาจแห่งจักรวรรดิโรมันและไบแซนไทน์) พระองค์ทรงปกครองอาณาจักรด้วยความเหี้ยมโหด ปราศจากความเมตตา ว่ากันว่าทรงรับสั่งให้ควักลูกตาสถาปนิกผู้ออกแบบสร้างมหาวิหารเซนต์บาซิล เพื่อมิให้สร้างสิ่งก่อสร้างที่งดงามเช่นนี้ได้ที่ใดอีก เมื่อหมดยุคของพระเจ้าอีวานที่ 4 ในปี ค.ศ. 1584 มอสโกก็ประสบปัญหาทางการเมือง เศรษฐกิจอย่างรุนแรง มีการแย่งชิงราชบัลลังก์ระหว่างราชวงศ์รูริก และโรมานอฟ ในที่สุดสมัชชาแห่งชาติและพระราชาคณะแห่งคริสตจักรออร์ทอดอกซ์ ก็มีมติเลือกมิคาอิล โรมานอฟ ขึ้นเป็นซาร์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์โรมานอฟ


จักรวรรดิรัสเซีย
ค.ศ. 1613-1917 พระเจ้าปีเตอร์ที่ 1 มหาราช (ค.ศ. 1682-1725) ทรงเป็นกษัตริย์ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์รัสเซีย พระองค์ขึ้นครองราชย์ตั้งแต่พระชนมายุ 10 ชันษา พร้อมกับพระเจ้าอีวานที่ 5 (เป็นกษัตริย์บัลลังก์คู่) จนในปี 1696 เมื่อพระเจ้าอีวานที่ 5 สิ้นพระชนม์ พระเจ้าปีเตอร์ที่ 1 มหาราช จึงมีพระราชอำนาจโดยแท้จริง ในยุคของพระองค์ทรงขยายอาณาเขตรัสเซียออกไปทางตะวันออกถึงวลาดีวอสตอค และทรงใช้นโยบายสู้ตะวันตก ทรงนำรัสเซียเข้าสู่ยุคใหม่ โดยในปีค.ศ. 1712 ทรงย้ายเมืองหลวงจากมอสโกมาที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก และเป็นครั้งแรกที่มีการจัดตั้งกองทหารราชนาวีขึ้นในรัสเซีย ทั้งยังทรงนำช่างฝีมือจากฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ มาสร้างวิหารและพระราชวังที่งดงามอีกมากมาย และทรงนำพาจักรวรรดิรัสเซียให้เป็นที่รู้จักเกรียงไกรในสังคมโลก ถัดจากพระเจ้าปีเตอร์มหาราชยังมีซาร์และซารีนาอีกหลายพระองค์ที่สืบราชบัลลังก์ ทว่าผู้ที่สร้างความเจริญเฟื่องฟูให้กับรัสเซียสูงสุด ได้แก่ พระนางเจ้าแคทเธอรีนที่ 2 (ค.ศ. 1762-1796) พระนางได้รับการยกย่องให้เป็นราชินี ด้วยทรงเชี่ยวชาญด้านการปกครองอย่างมาก กระนั้นพระนางก็มีชื่อเสียงด้านลบด้วยพระนางมีคู่เสน่หามากมาย
ผู้สืบราชวงศ์องค์ต่อมาคือ พระเจ้าพอลล์ที่ 1 (ค.ศ. 1796-1801) พระราชโอรสของพระนางเจ้าแคทเทอรีน ทรงครองราชย์อยู่เพียงระยะสั้น จากนั้นพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 1 (1801- 1825) พระราชโอรสสืบพระราชบัลลังก์ต่อ ในปี 1812 ทรงทำศึกชนะจักรพรรดินโปเลียนแห่งฝรั่งเศส แต่แล้วในช่วงปลายรัชกาล เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบบรัฐสภา ปี 1825 เกิดกบฏต่อต้านราชวงศ์ขึ้นในเดือนธันวาคม เรียก กบฏธันวาคม (Decembrist Movement) แต่พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 1 (ค.ศ. 1825-1855) ก็ทรงปราบกลุ่มผู้ต่อต้านไว้ได้ พอมาในสมัยพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ที่ 2 (ค.ศ. 1855-1881) พระองค์ถูกลอบปลงพระชนม์ที่นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในปี 1881 ทิ้งไว้เพียงอนุสรณ์สถานที่สร้างอุทิศแด่พระองค์ ณ จุดที่ถูกลอบปลงพระชนม์ ซาร์องค์ต่อมาคือ อเล็กซานเดอร์ที่ 3 (ค.ศ. 1881-1894) จนถึงซาร์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์โรมานอฟ พระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 (1894-1917) ความเหลื่อมล้ำกันทางชนชั้น และความยากจน ก่อให้เกิดการปฏิวัติเป็นครั้งแรกโดนกรรมการชาวนาในปี 1905 ซึ่งมีผู้ถูกยิงเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก เรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า วันอาทิตย์เลือด Bloody Sunday และสุดท้ายคือการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1917 กระนั้นชนวนที่ทำให้ราชวงศ์โรมานอฟและระบอบซาร์ถึงกาลอวสานก็มีปัจจัยอื่นเช่นกัน
สมัยสหภาพโซเวียต
การตัดสินใจเขาร่วมสงครามโลกครั้งที่ 1 ของซาร์นิโคลัสที่ 2 นั้นนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง ทั้งชีวิตของทหารและชาวรัสเซียนับล้านที่เมื่อรัสเซียเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ การจลาจลเกิดขึ้นทั่วเมือง ในที่สุดปี 1917 จึงเกิดการปฏิวัติล้มล้างระบบซาร์ พระเจ้านิโคลัสที่ 2 สละราชสมบัติ มีการจัดตั้งคณะรัฐบาลเฉพาะกิจเคอเรนสกีขึ้นบริหารประเทศ แต่พรรคบอลเชวิค (Bolshevik) นำโดยวลาดีมีร์ เลนินก็ทำการปฏิวัติยึดอำนาจการบริหารประเทศไว้ได้ โดยการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ พร้อมทั้งประกาศให้ประเทศเป็น สหภาพสาธารณรัฐสังคมนิยมโซเวียต (Union of Soviet Socialist Repubilcs หรือ USSR)
ปี ค.ศ. 1918 ย้ายเมืองหลวงและฐานอำนาจกลับสู่มอสโก กระนั้นก็ยังมีผู้ไม่พอใจกับสภาพแร้นแค้น การขาดสิทธิเสรีภาพ จึงทำให้เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นหลายต่อหลายครั้ง เลนินถึงแก่อสัญกรรมในปี 1924 โจเซฟ สตาลิน (1924-1953) ขึ้นบริหารประเทศแทนด้วยความเผด็จการ และกวาดล้างทุกคนผู้ที่มีความคิดต่อต้าน เขาเปิดการพัฒนาประเทศสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ จนเทียบเคียงสหรัฐอเมริกา แต่ปัญหาความอดอยาก ที่เรื้อรังมานานก็ยากเกินเยียวยา และยิ่งเลวร้ายเมื่อฮิตเลอร์สั่งล้อมมอสโกไว้ โดยเฉพาะที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กถูกปิดล้อมไว้นานถึง 900 วันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ชาวรัสเซียเรียกสงครามครั้งนั้นว่า The Great Patriotic War กระนั้นสตาลินก็มีบทบาทในการพิชิตนาซีเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1941-1945) นี้ไว้ได้
ปี ค.ศ. 1955 นีกีตา ครุชชอฟ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำโดยมีแนวคิดในการบริหารประเทศที่เน้นการอยู่ร่วมกัน มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ให้เป็นที่อยู่อาศัยของประชาชนผ่อนคลายความเข้มงวดให้น้อยกว่าสมัยสตาลิน รวมถึงเปิดเครมลินเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ประชาชนได้เข้าชมอีกด้วย ปี 1964 ครุชชอฟลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคแทน เบรจเนฟแผ่อิทธิพลไปถึงจีน คิวบา และอัฟกานิสถาน เพิ่มความเครียดไปทั่วโลก เขาจึงนำนโยบายต่างประเทศที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในชื่อ การผ่อนคลายความตึงเครียด มาใช้โดยปี1980 มอสโกได้เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 22
ปี ค.ศ. 1985 มิฮาอิล กอร์บาชอฟขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมิวนิสต์ เขาเป็นผู้นำการปฏิรูปโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมที่เรียกว่า เปเรสตรอยกา (Perestroyka) โดยนำพาประเทศเข้าสู่ระบบทุนนิยม มีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และพัฒนาฝีมือแรงงานรวมถึงเสนอนโยบายเปิดกว้างกลาสนอสต์ (Glasnost) คือให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณชน มีการติดต่อด้านการค้ากับตะวันตก รวมถึงถอนกำลังออกจากยุโรปตะวันออกและอัฟกานิสถานและยังได้เข้าร่วมกับองค์การนาโต หรือองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ในปี ค.ศ. 1990 กอร์บาชอฟได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ รวมถึงได้รับยกย่องจากนิตยสารไทม์เป็นบุรุษแห่งศตวรรษ (Man of the Decade) กระนั้นปัญหาขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค และความล้าหลังทางการผลิตที่สั่งสมมานานก็ทำให้นโยบายเปเรสตรอยกาล้มเหลว ความนิยมในกอร์บาชอฟเริ่มตกลง ต่อมาเกิดรัฐประหารขึ้นในเดือนสิงหาคม 1991 โดยกลุ่มคอมมิวนิสต์หัวเก่าที่ไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลงสู่ตลาดเสรี แต่บอริส เยลต์ซิน ก็สามารถกู้สถานการณ์เอาไว้ได้ กอร์บาชอฟจึงสิ้นคะแนนนิยมอย่างแท้จริง เขาประกาศลาออกจากตำแหน่ง รวมถึงประกาศยกเลิกพรรคคอมมิวนิสต์ต่อหน้ามหาชน พร้อมด้วยการก้าวขึ้นเป็นผู้นำของเยลต์ชิน สหภาพโซเวียตจึงล่มสลาย สาธารณรัฐต่างๆ ทั้ง 15 สาธารณรัฐแยกตัวเป็นอิสระ รวมทั้งสาธารณรัฐรัสเซีย (Russian SFSR) ภายใต้ชื่อใหม่ว่า สหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation)